อาการต้องสงสัย ภาวะอักเสบติดเชื้อในสมองและระบบประสาทส่วนกลาง

จำนวนผู้เข้าชม : 89 ครั้ง

ภาวะการอักเสบหรือติดเชื้อในสมองและระบบประสาทส่วนกลาง สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุโดยผู้ป่วยจะมีอาการและอาการแสดงเบื้องต้น คล้ายกับอาการอักเสบหรือติดเชื้อในระบบอื่น ๆ ของร่างกายได้ เช่น มีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ครั่นเนื้อครั่นตัว ทำให้มีอาการคล้ายผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ แต่ผู้ป่วยที่มีการอักเสบติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง มักจะมีอาการแสดงความผิดปกติทางระบบประสาทที่มากกว่าและชัดเจนกว่า เช่น มีอาการปวดศีรษะเฉพาะที่หรือปวดทั่ว ๆ รุนแรง

มีอาการปวดตึงต้นคอ คอแข็ง ขยับคอลำบาก มีอาการสับสนความคิดความจำผิดปกติ มีอาการซึมหรือความรู้สึกตัวลดลงที่ชัดเจน ซึ่งต้องแยกจากอาการซึมในผู้ป่วยที่มีไข้จากสาเหตุอื่น ที่ยังสามารถปลุกตื่นรู้ตัวรู้เรื่องดีกว่า เป็นต้น

แต่ยังมีกลุ่มอาการอักเสบในระบบประสาทส่วนกลางที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ เช่น กลุ่มอาการสมองอักเสบจากระบบประสาทภูมิคุ้มกันที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการคล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน ซึ่งไม่สามารถแยกจากกันได้ชัดเจนในระยะแรก จำเป็นต้องติดตามอาการเป็นระยะ จนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการแสดงทางระบบประสาทที่ชัดเจน จึงจะสามารถให้การวินิจฉัยแยกโรค ออกจากอาการอักเสบหรือติดเชื้อในระบบอื่น ๆ ของร่างกายได้

ดังนั้น หากมีอาการไข้ร่วมกับอาการในระบบต่าง ๆ ของร่างกายที่ชัดเจนเช่น เจ็บคอ มีน้ำมูก ไอมีเสมหะ ปวดท้อง ปัสสาวะแสบขัด มีผื่นหรือมีแผลชัดเจนขอแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจรักษาเบื้องต้นกับแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เฉพาะทางสาขาที่เกี่ยวข้อง แต่หากมีอาการไข้ที่ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่มีอาการอักเสบได้ชัดเจน ร่วมกับมีอาการที่น่าสงสัยว่ามีความผิดปกติทางระบบประสาท ได้แก่ อาการปวดศีรษะเฉพาะที่หรือปวดรุนแรง อาการปวดตึงต้นคอ คอแข็ง ความรู้สึกตัวลดลง ความคิดความจำผิดปกติ ซึม สับสน อาการแขนขาอ่อนแรง หน้าเบี้ยวปากเบี้ยว อาการชักเกร็ง แนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจรักษาเบื้องต้นกับแพทย์ทั่วไปหรืออายุรแพทย์ ร่วมกับขอรับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางระบบประสาท เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที

เพราะกลุ่มอาการอักเสบ หรือติดเชื้อในสมองและระบบประสาทส่วนกลาง มีความยุ่งยากซับซ้อนกว่าระบบอื่น ๆ ของร่างกาย แต่หากได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม จะช่วยให้สามารถทุเลาอาการและความรุนแรงของโรค ลดอัตราการเสียชีวิตและภาวะทุพลภาพที่เกิดจากการอักเสบติดเชื้อโดยตรง หรือภาวะแทรกซ้อนจากความเสียหายในระบบประสาทได้

กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา แนะให้สังเกตอาการต้องสงสัย เพื่อแยกอาการอักเสบติดเชื้อทั่ว ๆ ไป จากการอักเสบติดเชื้อในสมองและระบบประสาทส่วนกลาง เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้อย่างเหมาะสม


ขอขอบพระคุณ ผศ.พิเศษ นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และว่าที่ร้อยตำรวจโทหญิงและ แพทย์หญิงนภา ศริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการ ผู้ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 6  กุมภาพันธ์ 2568สถาบันประสาทวิทยากรมการแพทย์ #สถาบันประสาทวิทยา #สมองอักเสบ #ติดเชื้อในระบบประสาทส่วกลาง                                                                          

Recent Posts