Welcome to Thai nursing time
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ณ ห้อง The Meeting Room ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ โดย ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ส่งเสริมงานวิจัย นวัตกรรม พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ และมหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้ มี ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสักขีพยาน วัตถุประสงค์หลักของความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการศึกษา การวิจัย และนวัตกรรม เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาบุคลากร นิสิต นักศึกษา รวมถึงการพัฒนาทักษะชีวิตและความเป็นผู้นำ ส่งเสริมการจัดกิจกรรมด้านวิชาการ กิจกรรมสำหรับนิสิต นักศึกษา และการประชุมสัมมนาระดับชาติและนานาชาติ ตลอดจนสนับสนุนโครงการวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจ และสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน ส่งเสริมกิจกรรมอาสาสมัครและกิจกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและการพัฒนาความยั่งยืน รวมทั้งพัฒนากิจกรรมที่สร้างสรรค์สำหรับนิสิต นักศึกษาในการเสริมสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม และการมีส่วนร่วมในชุมชน
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของคณาจารย์และบุคลากรเท่านั้นแต่นิสิตมีส่วนร่วมที่สำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดลมีปณิธานร่วมกันที่มุ่งหวังให้ความยั่งยืนหรือ Sustainability เป็นเรื่องของความรู้สึกและจิตใจของนิสิตนักศึกษา ที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญควบคู่กับคุณภาพของการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย โครงการความร่วมมือระหว่างทั้งสองมหาวิทยาลัยในโครงการนี้นอกเหนือจากโครงการวิจัยร่วมกันซึ่งจุฬาฯ และมหิดลได้ดำเนินการอยู่แล้ว ภายใต้โครงการความร่วมมือในครั้งนี้ จะมีโครงการวิจัยในระดับลึกมากขึ้น โดยมีนวัตกรรมและ AI ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้นจะมีกิจกรรมในลักษณะกิจกรรมประเพณีเพื่อสังคมระหว่างจุฬาฯ และมหิดลซึ่งจะจัดในเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2568 โครงการความร่วมมือระหว่างทั้งสองมหาวิทยาลัยในวันนี้ไม่ใช่การบูรณาการระดับสาขาวิชาเท่านั้น แต่เป็นระดับมหาวิทยาลัย ที่สำคัญทั้งจุฬาฯ และมหิดลมีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ ความร่วมมือกันในครั้งนี้ทั้งสองมหาวิทยาลัยเล็งเห็นว่าการสร้างพลังระหว่างนิสิตนักศึกษาทั้งสองมหาวิทยาลัยจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นิสิตเกิดการเรียนรู้การทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของความยั่งยืนคือการพัฒนาประชาคมโลก (Global Citizen)
ด้าน ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่ามหาวิทยาลัยมหิดลมีความโดดเด่นด้าน Health Science และ Science and Technology การที่สองมหาวิทยาลัยมาร่วมมือกันจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนิสิต นักศึกษา รวมถึงนักวิจัยของสองมหาวิทยาลัยอันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคม โดยมุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนและ SDGs ความร่วมมือระหว่างสองมหาวิทยาลัยในครั้งนี้มีเป้าหมายในการผลิตคนที่มีคุณสมบัติตอบโจทย์โลกยุคใหม่ โดยเฉพาะทักษะจำเป็นในอนาคต หรือที่เรียกว่า Transferable Skills ที่เป็นแนวทางการจัดการศึกษาในโลกยุคใหม่ มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นและฝึกฝน Soft Skill ตลอดจนความร่วมมือทางวิชาการ งานวิจัยและกิจกรรมเพื่อสังคมและความยั่งยืนที่จะช่วยสานพลังในการสร้างผลกระทบเชิงบวกและความยั่งยืนให้กับประเทศ