ไวรัสตับอักเสบซี เป็นหนึ่งในเพชรฆาตคร่าชีวิตอันดับต้นๆของโลก โดยปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกอยู่มากกว่า 150 ล้านคน มีอัตราการติดเชื้อในประเทศไทยโดยเฉลี่ยประมาณ 1% ของประชากร แต่ในบางจังหวัดของประเทศอาจมีอัตราการติดเชื้อสูงกว่านี้มาก ไวรัสตับอักเสบซีติดต่อเข้าสู่ร่างกายทางเลือดหรือเพศสัมพันธ์เป็นหลักผ่านหลายสาเหตุ ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้ที่มีประวัติการรับเลือดก่อนปี 2534, มีประวัติการฉีดยาเสพติดเข้าเส้น, มีประวัติการสัก เจาะด้วยเครื่องมือที่ไม่สะอาด, มีประวัติการฉีดยากับหมอเถื่อน มีเพศสัมพันธ์หลายคู่นอน ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถติดเชื้อร่วมกับการติดเชื้อ HIV ได้อีกด้วย โดยมีอัตราการติดเชื้อในผู้ป่วยกลุ่มนี้สูงถึง 8 – 10 % และสามารถก่อให้เกิดพยาธิสภาพได้ทั้งภายในตับและภายนอกตับ โดยแนวทางการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ได้มีการระบุให้ใช้ Anti-HCV test สำหรับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อ และ HCV RNA Viral load สำหรับการตรวจยืนยันและติดตามการรักษา ร่วมกับการตรวจวินิจฉัยความรุนแรงของโรคตับ ก่อนทำการรักษา
ปัจจุบันบัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ได้มีการอนุมัติการใช้ยารักษาการติดเชื้อ Sofosbuvir ร่วมกับ Velpatasvir และ/หรือ Ribavirin โดยเป็นสูตรยาที่สามารถรักษาครอบคลุมทุกสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสตับอักเสบซี และมีประสิทธิภาพในการรักษาให้หายขาดสูงถึง 95% ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี เป็นโรคที่สามารถรักษาหายขาดได้ ภายใต้การดูแลรักษาของอายุรแพทย์ที่ปฏิบัติงานด้านโรคระบบทางเดินอาหาร ตามเกณฑ์สิทธิประโยชน์การรักษาตามประกาศของบัญชียาหลักแห่งชาติ
สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทยร่วมกับกรมควบคุมโรค จึงได้ทำการพัฒนาระบบการลงทะเบียนแบบดิจิทัล เพื่อติดตามการตรวจวินิจฉัยและรักษาไวรัสตับอักเสบซี หรือ Nationwide Online HCV Registration เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลส่วนกลางของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีทั่วประเทศ ให้มีระบบที่สามารถติดตามการตรวจวินิจฉัยและการรักษาของคนไข้แบบออนไลน์ได้ โดยกลุ่มเป้าหมายแรกจะเป็นผู้ติดเชื้อที่อยู่ในราชทัณฑ์ และจะขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมผู้ติดเชื้อทั่วประเทศเป็นลำดับถัดไป ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อและติดตามการรักษาที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ลดปัญหาการเดินทางเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลหลายครั้งโดยไม่จำเป็นอย่างเครื่อง Alinity m ที่สามารถออกผลการทดสอบได้ภายใน 2 ชั่วโมง ร่วมกับการใช้ยาและระบบติดตามการตรวจและรักษาคนไข้ที่มีคุณภาพ จะสามารถช่วยทำให้ประเทศไทย บรรลุเป้าหมายการยุติปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายเดียวกับองค์การอนามัยโลก