Welcome to Thai nursing time

คุณจิราภรณ์ พราหมณ์คล้ำ 062 619 7893 , คุณอมรรัตน์ ทัดดอกไม้ : 084 635 5414 6:00 AM - 10:00 PM (Mon-Fri)

กรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ระดมทีมพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพระบบดูแลเฝ้าระวังผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

จำนวนผู้เข้าชม : 41 ครั้ง

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต มอบหมายให้นายแพทย์บุรินทร์  สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิตเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพระบบดูแลเฝ้าระวังผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในระหว่างวันที่ 27 ถึง 28 พฤศจิกายน ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง พร้อมเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและในองค์ความรู้การฆ่าตัวตาย การป้องกัน และแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดมาตรการอย่างมีระบบ

 นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญโดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดนโยบายที่จะลดอัตราการฆ่าตัวตายของทุกประเทศให้ลดลง ร้อยละ 10 โดยจะต้องลดลงให้ได้หนึ่งในสามของจำนวนผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จภายในปี 2030 ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกมีอัตราอยู่ที่ 9.1 ต่อ 100,000 ประชากรทั้งนี้ในปี 2568 กระทรวงสาธารณสุขได้มีการตั้งเป้าหมายในการกำหนดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยต้องไม่เกิน 7.8 ต่อ แสนประชากร ซึ่งการรายงานพบว่าในปี 2567 อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.9 ต่อแสนประชากร โดยเขตสุขภาพที่มีอัตราการฆ่าตัวตายเกินเกณฑ์ ค่าเป้าหมาย มีมากถึงเจ็ดเขตสุขภาพ ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายที่มีประสิทธิภาพจึงต้องใช้ข้อมูลจริงในพื้นที่ที่มีความถูกต้องครบถ้วน โดยมีแหล่งที่มาจากการรายงานผลการสอบสวนการฆ่าตัวตายของทีมในระดับพื้นที่ โดยมีหน่วยจิตเวชเป็นพี่เลี้ยงในการสนับสนุนให้จังหวัดสามารถประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูล และบ่งชี้ประชากรกลุ่มเสี่ยงเพื่อพัฒนาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการดูแลเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายรายพื้นที่ และกำหนดมาตรการเบื้องต้นแก่ผู้มีความเกี่ยวข้องทั้งองค์กรในส่วนของภาครัฐ องค์กรส่วนท้องถิ่น หรือความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายได้อย่างเป็นรูปธรรมลดความสูญเสียทรัพยากรบุคคลอันมีค่าในสังคมอย่างยั่งยืน

นายแพทย์บุรินทร์  สุรอรุณสัมฤทธิ์  ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เพราะปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาเร่งด่วนทางสาธารณสุขที่มีที่มาและผลกระทบเชิงสังคม เศรษฐกิจและสุขภาพร่วมกัน ความร่วมมือในการป้องกันการฆ่าตัวตายถือเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย เนื่องจากปัญหาการฆ่าตัวตายส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสังคม ทั้งในแง่ของสุขภาพจิตของบุคคลในชุมชน ความสัมพันธ์ในครอบครัว และทรัพยากรสาธารณะ องค์กรระดับท้องถิ่นและนานาชาติ ได้เริ่มพัฒนาแนวทางและกลยุทธ์ที่เน้นการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งการประชุมในครั้งนี้นอกจากกรมสุขภาพจิตจะเน้นย้ำการให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการฆ่าตัวตายโดยผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นายแพทย์ธรณินทร์  กองสุข ยังมีการให้ความรู้ตามแนวทางการวิเคราะห์ข้อมูลและการใช้ประโยชน์เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในระดับจังหวัด จากข้อมูลการสอบสวนฆ่าตัวตาย (Suicide investigation) ใน รง. 506S V 11 รวมไปถึงการดึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากตัวแทนศูนย์เฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตาย พร้อมทั้งการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติวิเคราะห์ข้อมูลของจังหวัดตัวอย่าง และกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องจากข้อมูลที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่ต่อไป

Recent Posts