Welcome to Thai nursing time
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต 6 จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพนักสื่อสารสุขภาวะในสถาบันการศึกษา ภาคตะวันออก ระหว่างวันที่ 5-7 กันยายน 2567 ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ในสถาบันการศึกษาพื้นที่ภาคตะวันออก เรียนรู้และเข้าใจเนื้อหาและนโยบายด้านสุขภาวะในประเด็นต่าง โดยมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม ได้แก่ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม (วิทยาเขตชลบุรี) และศูนย์สื่อสร้างสรรค์ภาคตะวันออก มีคณาจารย์และนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 100 คน มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือฯ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2567
โดย นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายประชา เตรัตน์ ประธานกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 6 รศ.ดร.สุชาดา พงศ์กิตติวิบูลย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นายภูริพัฒน์ แก้วตาธนวัฒนา คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ผศ.ดร.สุเทพ อุสาหะ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี ผศ.ดร.สุรกิจ ทองสุก รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ นางฐาณิษา สุขเกษม ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสร้างสรรค์ภาคตะวันออก และนายแพทย์ปรีดา แต้อารักษ์ ที่ปรึกษา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมให้เกียรติเข้าร่วมลงนามในพิธีดังกล่าว
ทั้งนี้โครงการพัฒนาศักยภาพนักสื่อสารสุขภาวะในสถาบันการศึกษา ภาคตะวันออก เป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาการศักยภาพการสื่อสารด้านสุขภาวะ ของนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออก ให้เกิดกระบวนการผลิตเครื่องมือการสื่อสารรูปแบบใหม่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ในสถาบันการศึกษา และชุมชนรอบสถาบันได้เป็นอย่างดี เกิดการพัฒนารูปแบบและวิธีคิดประเด็นการสื่อสารที่ทันสมัย และการใช้เครื่องมือสื่อสารด้านสุขภาวะที่หลากหลาย ตลอดจนการเรียนรู้และเข้าใจประเด็นสื่อสารในพื้นที่ การเชื่อมโยงวิธีคิดประเด็นทางสังคมเข้าด้วยกัน ทั้งทางด้านสุขภาวะ กาย ใจ สังคม และปัญญาหรือจิตวิญญาณ เพื่อมุ่งเน้นการสื่อสารที่เข้าถึงง่าย ให้ผู้รับสารสามารถพึ่งพาตนเองได้ในการดูแลรักษาสุขภาพกาย สุขภาพจิต เป็นอย่างดี
นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า สช.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพการสื่อสารด้านสุขภาวะในสถาบันการศึกษา เพื่อมุ่งหวังให้นักเรียน นักศึกษาได้เรียนรู้ เข้าใจเนื้อหา และนโยบายด้านสุขภาวะในประเด็นต่างๆ ที่เกิดผลกระทบกับตนเอง และสังคมโดย อาทิ ประเด็นสิ่งแวดล้อมในพื้นที่และชุมชนของตนเอง หรือปัญหาเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เป็นผลกระทบด้านสุขภาวะ อย่าง NCDs กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สังคมสูงวัย สิทธิการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ความหลากหลาย ทางเพศ ความมั่นคงทางอาหาร และสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง โดยมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจะได้นำความรู้ความเข้าใจที่ได้จากโครงการนำไปสามารถผลิตเครื่องมือสื่อสารด้านสุขภาวะได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนเกิดการสื่อสารสร้างการรับรู้ในประเด็นต่างๆ ทั้งในสถาบันการศึกษา และพื้นที่รอบสถาบันการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายประชา เตรัตน์ ประธานกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 6 กล่าวว่า การที่เราจะให้องค์ความรู้เกี่ยวกับสุขภาวะที่เชื่อมโยงแก่คนรุ่นใหม่ได้ดี ต้องอาศัยสื่อและคอนเทนต์หรือเนื้อหาสาระที่มันโดนใจ เป็นประโยชน์ ก็จะเกิดประโยชน์แต่เด็กเยาวชน ซึ่งโครงการนี้ เป็นการพัฒนาลูกหลานให้เป็นนักสื่อสารสุขภาวะ ที่สามารถผลิตสื่อที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนส่วนรวม และต่อประเทศชาติบ้านเมือง