Welcome to Thai nursing time

คุณจิราภรณ์ พราหมณ์คล้ำ 062 619 7893 , คุณอมรรัตน์ ทัดดอกไม้ : 084 635 5414 6:00 AM - 10:00 PM (Mon-Fri)

สวรส. จัดประชุมวิชาการ “ร่วมพลิกระบบสุขภาพไทย ด้วยงานวิจัยคุณภาพ” พร้อมผนึก 24 องค์กร ร่วมเคลื่อนวิจัย รองรับวิกฤตประเทศ และปัญหาสุขภาพประชาชน

จำนวนผู้เข้าชม : 155 ครั้ง

ถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ปี 2567 “ร่วมพลิกระบบสุขภาพไทย ด้วยงานวิจัยคุณภาพ” ระหว่างวันที่ 22-23 ส.ค. 2567 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการนำผลงานวิจัยระบบสุขภาพไปใช้ประโยชน์ รวมถึงมุ่งส่งเสริมให้ประเทศไทยมีนโยบายสำคัญด้านระบบสาธารณสุขที่เกิดจากงานวิจัยคุณภาพ โดยมีเครือข่ายนักวิจัย บุคลากรสาธารณสุข รวมทั้งภาคส่วนต่างๆที่สนใจเข้าร่วมงานกว่า 500 คน 

พร้อมกันนี้ ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การวิจัยด้านระบบสุขภาพและการแพทย์ ระหว่างหน่วยงานวิจัยในระบบสุขภาพของประเทศ 24 หน่วยงาน เพื่อแสดงถึงความร่วมมือในการจัดระบบสนับสนุนและบูรณาการการวิจัยด้านระบบสุขภาพและการแพทย์ ที่มี สวรส. เป็นหน่วยงานกลางเชื่อมประสานการดำเนินงาน โดยมุ่งให้เกิดการขับเคลื่อนงานวิจัยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างผลลัพธ์และผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก พลเรือโท นพ.นิกร เพชรวีระกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการฯ พร้อมทั้งร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว รวมทั้งร่วมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง สร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพด้วยงานวิจัย

พลเรือโท นพ.นิกร เพชรวีระกุล กล่าวว่า “งานวิจัยถือเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาในทุกด้าน โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี หรือมีสุขภาพที่ดี ต้องอาศัยงานวิจัยเป็นเข็มทิศนำทาง ทั้งนี้เป้าหมายงานวิจัยที่จะยกระดับความมั่นคงและความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จำเป็นต้องดำเนินการอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นมิติของระบบบริการปฐมภูมิ ที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ มิติบุคลากรเพื่อแก้ปัญหาการกระจุก-กระจายตัว มิตินวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายต่างๆ เช่น 30 บาทรักษาทุกที่ รวมไปถึงงานวิจัยด้านระบบการเงินการคลัง ด้านยา และการอภิบาลระบบ ตามกรอบแนวคิดระบบสุขภาพ (Six Building Blocks) นอกจากนั้น งานวิจัยที่จะช่วยให้เกิดการรองรับวิกฤตที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ และโรคระบาดใหม่ๆ ซึ่งงานวิจัยต้องมีการเตรียมความพร้อมและปรับตัวต่อภาวะวิกฤติในอนาคต เช่น งานวิจัยวัคซีน ยาที่จำเป็น เพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ ดังนั้นงานวิจัยที่จะก้าวไปข้างหน้าได้ ควรมี Think Tank หรือ Research Tank ที่มีประสิทธิภาพ”

หลังเปิดการประชุมวิชาการฯ มีเวทีอภิปรายเรื่อง “หลอมรวมปัญญาสู่ทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ของระบบสุขภาพด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์” โดย ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการมูลนิธิประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กล่าวว่า ยาราคาแพงที่สุดในโลก เมื่อปี 2564 อยู่ที่ 72 ล้านบาท, ปี 2565 อยู่ที่ 120 ล้านบาท และปี 2566 อยู่ที่ 155 ล้านบาท และแนวโน้มในอนาคตก็อาจจะมียาที่แพงขึ้น ทยอยเข้ามาเรื่อยๆ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายด้านการรักษาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นความท้าทายของระบบสุขภาพ ที่มีทางออกของปัญหานี้อยู่ 2 ทางคือ เติมเงินเข้าไปในระบบเพิ่ม หรือลดการลงทุนที่สูญเปล่าแทน ซึ่งพบว่าบางประเทศมีการเติมเงินเข้าไปในระบบสุขภาพ เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงถึงประมาณ 20% ของ GDP ส่วนประเทศไทย อาจยังไม่ถึงจุดนั้น เพราะปัจจุบันอยู่ที่ 5-6% ของ GDP แต่มีการลงทุนที่สูญเปล่าในระบบสุขภาพอยู่เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น การผ่าตัดคลอด ที่มีสัดส่วนสูงถึง 40% มากกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 10-15% และสูงเป็นอันดับสองของเอเชียรองจากจีน ทั้งนี้การลดการลงทุนที่สูญเปล่าให้น้อยลง จะสามารถมีเงินลงทุนกับการรักษารูปแบบใหม่ๆ ที่เหมาะสม ซึ่งงานวิจัยจะเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย และการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเกิดความคุ้มค่าได้มากยิ่งขึ้น  

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ที่มีการวิจัยด้านสุขภาพในเชิงระบบ ซึ่งแน่นอนว่าการจะได้มาซึ่งนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่ดี จำเป็นต้องวางรากฐานเชิงระบบเพื่อให้ทุกส่วนประสานสอดคล้องกัน ฉะนั้นการวิจัยเชิงระบบต้องมองเป้าหมายใหญ่ โดยทำความเข้าใจแต่ละองค์ประกอบของระบบที่จะไปจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างไปจากวิธีการวิจัยโดยนำปัญหาเฉพาะเจาะจงมาเป็นตัวตั้ง ซึ่งจะทำให้เราได้แต่ Technical Intervention ฉะนั้นสิ่งที่อยากให้มีการลงทุนคือ 1) งานวิจัยในลักษณะ Area-based ที่ทำงานร่วมกับท้องถิ่นและภาคีในพื้นที่ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Comprehensive Health หรือ Holistic Health ที่ไม่ใช่เพียงแค่ Health Care โดยนำองค์ความรู้ต่างๆ ไปใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาพแบบองค์รวมในระดับพื้นที่ เพื่อค่อยๆ ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้นได้ในภาพรวม 2) Value-based Health System ที่ไม่ใช่การวิจัยเพียงแค่เรื่องของวิธีจ่าย (Payment) แต่เป็นการชวนมาคิดใหม่ ทำใหม่ว่าจะดูแลสุขภาพคนให้ดีขึ้นได้อย่างไร ด้วยการใช้เงินที่จะได้ Value return กลับมามากขึ้น ต้นทุนลดลง 3) Aging Society ซึ่งเป็นงานวิจัยสำคัญในการรวมพลังทุกส่วนมาแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า ปัจจุบันระบบสุขภาพของประเทศไทยมีปัญหาสำคัญที่ต้องการ การแก้ไขอย่างยิ่งยวดคือ 1) สถานการณ์ผู้สูงอายุ ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และ 2) สถานการณ์โรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ที่จะกลายไปเป็นผู้ป่วยโรคไตที่ต้องฟอกไตต่อไป ซึ่งหากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก็จะกระทบกับระบบสุขภาพทั้งหมด ทั้งนี้ปัญหาในระบบสุขภาพของประเทศ ต้องการงานวิจัยเชิงประจักษ์เพื่อรองรับการพัฒนาและการใช้ในเชิงนโยบาย โดยงานวิจัยที่สำคัญในระยะต่อไป จะมุ่งเน้นการหามาตรการที่เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล เพื่อการเดินหน้าแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด


นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า สวรส. ทำหน้าที่สนับสนุนการวิจัยให้กับประเทศไทยมาแล้ว 32 ปี มีการพัฒนากระบวนการ และแสวงหาความร่วมมือกับเครือข่ายด้านการวิจัยในระบบสุขภาพของประเทศ เพื่อร่วมดำเนินการวิจัยที่ตรงจุด ลดความซ้ำซ้อน ซึ่งการลงนาม MOU ที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะมาช่วยกันยกระดับการวิจัย โดยในอนาคตก็จะมีการขยายความร่วมมือไปยังเครือข่ายอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน ซึ่งเชื่อว่าเมื่อทุกฝ่ายมาช่วยกันอย่างเป็นระบบ และมีเป้าหมายร่วมกัน จะทำให้การพัฒนาระบบสุขภาพดำเนินไปอย่างมีทิศทางและประเทศเกิดความยั่งยืน


 

ทั้งนี้หน่วยงานร่วมกันลงนาม MOU ในครั้งนี้ 24 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) 2.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) 3.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 4.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) 5.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) 6. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 7.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) 8. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 9.กรมอนามัย 10.กรมการแพทย์ 11.กรมควบคุมโรค 12.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 13.กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 14.กรมสุขภาพจิต 15.กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 16.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 17.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 18.สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) 19.สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) 20.สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) 21.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 22.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) 23.มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPF) และ
24.มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)

Recent Posts