Welcome to Thai nursing time
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมควบคุมโรค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดเวที สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ มีตัวแทนภาคีองค์กรกว่า 200 ราย เข้าร่วมประชุมผ่านช่องทาง Onsite และ Online ได้ร่วมกันรับรองมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นดังกล่าวอย่างเป็นฉันทมติ พร้อมกล่าวถ้อยแถลงเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในประเด็นดังกล่าวด้วยกัน สำหรับกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) ในมติสมัชชาสุขภาพฯ ประเด็นนี้ มีสาระสำคัญ ให้ทุกภาคส่วนร่วมเป็นหุ้นส่วนและเครือข่ายในการสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคม ที่เอื้อต่อการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ควบคู่กับการมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ทั้งการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) พร้อมใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม กลไกเครดิตทางสังคม และกลไกการคลังสร้างแรงจูงใจ
เข้ามาร่วมสนับสนุน
นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ เปิดเผยว่า สิ่งที่ต้องยอมรับคือ โรค NCDs เป็นปัญหาวิกฤตทางสุขภาพทั้งไทยและทั่วโลก ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง ซึ่งในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิมากกว่า 4 แสนรายต่อปี ทั้งยังก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าสูงถึงปีละ 1.6 ล้านล้านบาท แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะมีนโยบาย กฎหมาย ยุทธศาสตร์ รวมถึงแผนการและโครงการต่างๆ อีกมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้อัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรค NCDs ลดลงได้
นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะเดียวกันด้วยสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม ยังส่งผลให้สภาวะแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรค NCDs มากขึ้นไปอีก ดังนั้นมติสมัชชาสุขภาพฯ ที่ภาคีเครือข่ายให้ฉันทมติรับรองร่วมกันในครั้งนี้ จึงเป็นกรอบทิศทางนโยบายสำคัญที่จะสานพลังสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ให้เข้ามาร่วมกันสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่เอื้อต่อการลดโรค NCDs รวมถึงมีการนำหลักการอื่นๆ อย่างเช่น เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม มาใช้เป็นมาตรการในการกระตุ้นหรือชี้นําให้ผู้คนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีกว่าเดิม เป็นต้น
ทั้งนี้ ภายในเวทีการประชุมดังกล่าวพบว่า ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และที่เกี่ยวข้องที่ร่วมให้ความเห็นในครั้งนี้ทั้งหมด ล้วนให้การสนับสนุนมติสมัชชาสุขภาพฯ โดยยังได้มีการนำเสนอถึงความก้าวหน้าการขับเคลื่อนของภาคส่วนต่างๆ ที่มีการดำเนินงานอยู่ทั้งในระดับประเทศไปจนถึงในระดับพื้นที่ พร้อมให้ข้อเสนอถึงประเด็นเพื่อพิจารณา เช่น นอกจากมองถึงปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (SDH) ยังต้องมีการมองไปถึงปัจจัยการค้า และปัจจัยทางกฎหมายที่มีส่วนกำหนดสุขภาพด้วย