Welcome to Thai nursing time
วันที่ 5 สิงหาคม 2567 ที่ ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการโรงพยาบาลชุมชน ประจำปี 2567 "โรงพยาบาลชุมชนเข้มแข็ง ระบบสุขภาพไทยยั่งยืน" พร้อมมอบนโยบายและบรรยายพิเศษ "การพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนสู่ความยั่งยืน" โดยมีนายแพทย์ปวิตร วณิชชานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลละงู จังหวัดสตูล ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จากโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศประมาณ 700 คน เข้าร่วมงาน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ฯ ให้มีความครอบคลุมและมีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการใกล้บ้าน ลดการเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลในเมือง ซึ่งจะช่วยลดความแออัดและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนลงได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงมุ่งพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชนซึ่งเป็นหน่วยบริการที่ดูแลสุขภาพประชาชนในระดับอำเภอ ให้เป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัย มีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการให้บริการ รวมไปถึงการให้บริการการแพทย์ทางไกล ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการเฉพาะทางในพื้นที่ห่างไกล ทำให้โรงพยาบาลชุมชนมีความเข้มแข็ง และระบบสุขภาพไทยมีความยั่งยืน
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีประชาชนเข้ารับบริการในโรงพยาบาลถึงประมาณ 304 ล้านคน/ครั้งทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องรับภาระงานที่หนักมาก กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายเร่งรัดการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ในระยะเวลา 10 ปี โดยเพิ่มแพทย์ ประมาณ 4,000 คนต่อปี พยาบาล 15,000 คนต่อปี และผู้ช่วยพยาบาล 12,000 คนต่อปี เพื่อให้มีบุคลากรอย่างเพียงพอและกระจายอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ช่วยพยาบาลได้ให้ทุกจังหวัดดำเนินการผลิตเพื่อให้คนในพื้นที่ได้มีงานทำและช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ได้มากขึ้น พร้อมกันนี้ ได้ผลักดัน พ.ร.บ.อาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงานของ อสม. ซึ่งจะมีภารกิจในการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพ ให้คนในชุมชนกินอาหารที่เหมาะสม มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้ป่วยน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลลดลงตามมา
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลชุมชนในสังกัด 771 แห่งทั่วประเทศถือเป็นหน่วยบริการที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนระบบสุขภาพให้เข้มแข็ง เนื่องจากเป็นหน่วยบริการที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ ทำให้ประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมและสะดวกรวดเร็ว ซึ่งการจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการทำงานและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพรวมทั้งองค์ความรู้ นวัตกรรมที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาระบบสุขภาพ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน และส่งผลถึงความยั่งยืนของระบบสุขภาพของประเทศต่อไป