Welcome to Thai nursing time

คุณจิราภรณ์ พราหมณ์คล้ำ 062 619 7893 , คุณอมรรัตน์ ทัดดอกไม้ : 084 635 5414 6:00 AM - 10:00 PM (Mon-Fri)

สมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ – สวรส. และพันธมิตร จัดประชุมวิชาการประจำปี การแพทย์จีโนมิกส์เพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทย

จำนวนผู้เข้าชม : 266 ครั้ง

วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 : นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมงานประชุมวิชาการประจำปี สมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ ครั้งที่ 3 “Harnessing Genomics Thailand to Better Public Health:THE TIME IS NOW” โดยมี ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา นายกสมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ และผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand: NBT)ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และผู้แทนองค์กร ผู้เกี่ยวข้องร่วมในพิธีเปิดงานประชุมฯ จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 1-3 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการประจำปี สมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ ครั้งที่ 3 “Harnessing Genomics Thailand to Better Public Health: THE TIME IS NOW” ซึ่งโครงการ Genomics Thailand นี้เป็นความก้าวหน้าทางด้านพันธุศาสตร์มนุษย์ และได้ใช้เทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาการแพทย์อย่างก้าวกระโดด โดยเมื่อนำข้อมูลพันธุกรรมหรือข้อมูลดีเอ็นเอของผู้ป่วยมาใช้ในการวินิจฉัยป้องกันรักษาทำให้การแพทย์มีความแม่นยำและจำเพาะต่อบุคคล นำมาสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนการให้บริการทางการแพทย์ในหลายโรค เช่น การป้องกันการแพ้ยาด้วยการตรวจยีน การป้องกันโรคมะเร็ง การคัดกรองทารกแรกเกิด เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยที่ดีขึ้นควรมีการนำนวัตกรรมด้านการแพทย์จีโนมิกส์มาใช้ระดับประเทศและจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมโดยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจรตามแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ. 2563-2567 โดยภายใต้แผนฯ นี้ ได้สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้เกิดฐานข้อมูลพันธุกรรมไทย 50,000 คน ศูนย์สกัดสารพันธุรรม และยังมีแผนการพัฒนาบุคลากร จำนวน 750 คน รวมถึงการจัดตั้งเครือข่ายวิจัยการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศไทย ทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานสำคัญให้เกิดบริการการตรวจ และการวินิจฉัยที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรม อย่างไรก็ตามหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนาบริการที่ประชาชนเข้าถึง ด้วยการบรรจุการบริการใหม่ด้านการตรวจพันธุกรรมเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ เช่น การตรวจยีนเสี่ยงมะเร็งเต้านม และ การตรวจยีนเพื่อป้องกันผื่นแพ้ยารุนแรง ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการเทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนไทยทัดเทียมกับประเทศอื่น

“การประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ ครั้งที่ 3 เป็นเวทีด้านวิชาการที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่าง นักศึกษา นักวิจัย และบุคลากรที่ต้องการใช้เทคโนโลยีจีโนมในการตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์จีโนมิกส์ และเพื่อยกระดับคุณภาพการรักษาในประเทศไทย ส่งเสริมให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น ตลอดจนลดภาระด้านงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศไทย”

Recent Posts