Welcome to Thai nursing time

คุณจิราภรณ์ พราหมณ์คล้ำ 062 619 7893 , คุณอมรรัตน์ ทัดดอกไม้ : 084 635 5414 6:00 AM - 10:00 PM (Mon-Fri)

สธ - WHO ส่งเสริมให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิและความเสมอภาคทางสุขภาพ สิทธิพื้นฐานหรือสิทธิมนุษยชนพึงได้รับ ไม่ว่าบุคคลมีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา หรือสังคม

จำนวนผู้เข้าชม : 147 ครั้ง

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดงานวันอนามัยโลก ปี 2567 "สุขภาพของเรา สิทธิของเรา อนาคตดิจิทัลของเรา" ชวนประชาชนและทุกภาคส่วนตระหนักถึงสิทธิและความเสมอภาคทางสุขภาพ ชู "30 บาท รักษาทุกที่   ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" ของรัฐบาล นายกฯ เศรษฐา ตอบโจทย์เพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน สนับสนุนการให้บริการสุขภาพรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้ทุกคนบนแผ่นดินไทย รวมถึงบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ได้เข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม รวดเร็ว และครอบคลุมทุกพื้นที่ 

วันนี้ (22 เมษายน 2567) ที่ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น โฮเทล จ.นนทบุรี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดกิจกรรมวันอนามัยโลก ประจำปี 2567 และครบรอบ 76 ปี องค์การอนามัยโลก โดยกล่าวว่า วันที่ 7 เมษายน ของทุกปี  เป็น "วันอนามัยโลก" (World Health Day) ซึ่งปีนี้รณรงค์ภายใต้แนวคิด "สุขภาพของเรา สิทธิของเรา อนาคตดิจิทัลของเรา" (Our Health, Our Right, Our Digital Future) ส่งเสริมให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิและความเสมอภาคทางสุขภาพ ซึ่งถือเป็นสิทธิพื้นฐานหรือสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงได้รับ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง หรือสภาพทางเศรษฐกิจหรือสังคม 

นโยบายสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขทำทันที  การยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่ดีที่สุด ซึ่งนอกจากจะดำเนินการในผู้มีสิทธิด้านสุขภาพแล้ว ยังดำเนินการในกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ คนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว เพื่อให้ประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพและมีสุขภาวะ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง สอดรับกับแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก (Country Cooperation Strategy : CCS) พ.ศ. 2565 – 2569 ในการช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพ มาตรฐาน อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม 

ดร.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทน WHO ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สิทธิด้านสุขภาพเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน โดย WHO มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมสุขภาพและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในระดับสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งสิทธิทางสุขภาพ หมายถึง บริการด้านสุขภาพที่ "มีคุณภาพ" "พร้อมใช้งาน" "เข้าถึงได้" "ยอมรับได้" และ "สามารถให้บริการได้" ตลอดเวลาและทุกที่ สำหรับทุกคน รวมถึงการมีสภาวะความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม การศึกษา การได้รับข้อมูลข่าวสาร น้ำดื่มและอากาศที่สะอาด โภชนาการที่ดี ที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ตลอดจนการทำงานและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ปราศจากการเลือกปฏิบัติ  มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยเชื่อว่าประเทศไทยจะเข้าใกล้การบรรลุวิสัยทัศน์ของการดูแลสุขภาพของทุกคนอย่างเท่าเทียม

นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกของ WHO และให้ความร่วมมือในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขระดับโลก เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และเป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบการรับมือสถานการณ์โรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ สำหรับกิจกรรมเนื่องในวันอนามัยโลกปีนี้ เป็นการจัดประชุม อภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ ขับเคลื่อนแนวคิดการสร้างความเสมอภาคทางสุขภาพและการเข้าถึงบริการสุขภาพ เสริมสร้างการมีส่วนร่วมทางยุทธศาสตร์ ตลอดจนการนำเสนอตัวอย่างความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดี เช่น โครงการพัฒนาระบบประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิและบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย (Health Insurance for Non-Thai People System : HINT)  เป็นต้น

Recent Posts