Welcome to Thai nursing time

คุณจิราภรณ์ พราหมณ์คล้ำ 062 619 7893 , คุณอมรรัตน์ ทัดดอกไม้ : 084 635 5414 6:00 AM - 10:00 PM (Mon-Fri)

กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2567 ภายใต้แนวคิด “ร่วมสร้างมหานครแห่งโอกาสและความเป็นธรรม เพื่อสังคมสุขภาวะ”

จำนวนผู้เข้าชม : 171 ครั้ง

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2567 กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2567 นำโดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ ศ.สุริชัย หวันแก้ว ประธานร่วม คณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ได้มีการประกาศเจตนารมณ์และยุทธศาสตร์ร่วมปี 2567-2570 ระบุว่า “เราจะร่วมสร้างมหานครแห่งโอกาสและความเป็นธรรมเพื่อสังคมสุขภาวะ ให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และความปลอดภัยอย่างเท่าเทียม ด้วยพลังความร่วมมือที่เข้มแข็งของทุกภาคส่วน ภายในปี 2570”

สำหรับกิจกรรมหลักของงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ได้มีการจัดเวทีสานพลังเสวนานโยบายสาธารณะ(Policy Dialogue)ใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 1ปี 2563  2. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับภาวะวิกฤต และสุขภาพดีทุกช่วงวัยด้วยระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่เน้นคุณค่า 3. การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะของชุมชน 4. การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่เศรษฐกิจปลอดภัย ภายใต้ความหลากหลาย  เป้าหมายที่มีการตั้งร่วมกันไว้ภายใน 3 ปี คือให้มีการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ ในทั้ง 50 เขตของ กทม. ที่เชื่อมโยงกับธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพฯ และกลไกอื่นๆ เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้น

นายเตชิต ชาวบางพรหม หัวหน้าศูนย์ขับเคลื่อนสุขภาวะเขตเมือง(ศสม.)สช.เปิดเผยว่า นอกจากกิจกรรมสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพฯ ที่เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในฐานะพื้นที่กลางที่เปิดโอกาสให้คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมเมือง ได้เข้ามาส่งเสียงสะท้อนถึงปัญหา ความต้องการ ตลอดจนข้อเสนอเชิงนโยบาย ให้ดังกึกก้องไปถึงผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องได้ โดยปัจจุบันได้มีการจัดทำ ‘ธรรมนูญสุขภาพระดับเขต’ ที่แยกย่อยลงไปแล้วใน 22 เขตของ กทม.

นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม.กล่าวว่า เรื่องของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิใน กทม. นับว่ามีความเปราะบาง เนื่องจากสภาพความซับซ้อนของปัญหาที่เมืองใหญ่ต่างๆ มักจะเผชิญ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ได้มีการหารือกันในเวที คือจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการในหน่วยบริการปฐมภูมิมากขึ้น ซึ่งก็จะต้องไปแก้ไขปัญหาในเรื่องของการเชื่อมต่อข้อมูล ขณะเดียวกันก็ต้องมุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ภายใต้การมีส่วนร่วมของคลินิกเอกชนและประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ ขณะนี้หลายภาคส่วนต่างพยายามเน้นให้คนกลับไปใช้บริการในหน่วยปฐมภูมิมากขึ้น โดย กทม. มีคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ช่วยดูแลอยู่กว่า 300 แห่ง

Recent Posts