Welcome to Thai nursing time
วันที่22 ก.พ.66 ณโรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิชคอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี
กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ร่วมกับ 7 โรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี, ลพบุรี, ลำปาง, อุบลราชธานี, อุดรธานี, สุราษฎร์ธานี, และโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เพื่อส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและวิทยาการต่างๆ และการนำเสนอผลการศึกษาวิจัย รวมทั้งสนับสนุนให้มีเวทีแลกเปลียนความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับโรคมะเร็งทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัญหาด้านสาธารณสุขเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาประเทศ เนื่องจากทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพยากรสำคัญที่ขับเคลื่อนการพัฒนาด้านต่างๆ กระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้วางแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี และปฏิรูประบบสุขภาพ ผ่านยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศ 4 ด้าน คือ ด้านส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเลิศ ด้านบริการเป็นเลิศ ด้านบุคลากรเป็นเลิศและบริหารเป็นเลิศด้วยธรรมาภิบาล โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่ มีความสุขและระบบสุขภาพยั่งยืนกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มุ่งพัฒนาการดำเนินงานทุกด้านเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ ที่มีคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพอย่างเสมอภาค ภายใต้ภารกิจการสร้างและการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สมคุณค่า เสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการและบริการทางการแพทย์ในทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาการแพทย์ของประเทศสู่มาตรฐานสากล รวมทั้งพัฒนารูปแบบระบบบริการ Service plan สาขาต่างๆ รวมทั้งสาขาโรคมะเร็งด้วย
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคมะเร็งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จากข้อมูลสถิติทะเบียนมะเร็งประเทศไทย โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติรายงานว่า แต่ละปี จะมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 คน/ปี หรือคิดเป็นประมาณ 400 คน/วัน นอกจากนั้น ยังพบว่าอัตราการเกิดโรคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยโรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกในคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักและมะเร็งปากมดลูก ตามลำดับจากปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากสถาบัน โรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคมะเร็ง ให้เป็นเครือข่ายสุขภาพที่สำคัญ ดังนั้น การประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติขึ้นทุกๆ ๒ ปี การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 15 มีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จำนวนทั้งสิ้น 810 คน