Welcome to Thai nursing time

คุณจิราภรณ์ พราหมณ์คล้ำ 062 619 7893 , คุณอมรรัตน์ ทัดดอกไม้ : 084 635 5414 6:00 AM - 10:00 PM (Mon-Fri)

สภาการพยาบาล สนับสนุนการผลิตพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน

จำนวนผู้เข้าชม : 251 ครั้ง


วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล ให้สัมภาษณ์ถึงบทบาทของสภาการพยาบาลในการผลิตพยาบาลเข้าสู่ระบบสาธารณสุขของประเทศเพื่อให้ดูแลสุขภาพของประชาชน กล่าวว่า สภาการพยาบาล ในฐานะองค์กรวิชาชีพ ที่ทำหน้าที่ควบคุมกำกับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ เพื่อคุ้มครองประชาชน ได้สนับสนุนการผลิตพยาบาลอย่างมีคุณภาพตามมตรฐานที่สภาการพยาบาลกำหนด เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลโดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาพยาบาลทุกแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาที่ผ่านเกณฑ์การรับรองสถาบันการศึกษาวิชาการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จากสภาการพยาบาลแล้ว จำนวน 106 แห่ง สามารถรับนักศึกษาพยาบาลได้ประมาณปีละ 12,500 คน

โอกาสนี้ ขอเรียนให้สังคมได้ทราบถึงการผลิตบัณฑิตสาขาพยาบาลศาสตร์ ซึ่งสภาการพยาบาลได้จัดทำข้อบังคับว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาพยาบาลศาสตร์ 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ที่รับนักศึกษาคุณวุฒิประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า มีระยะเวลาศึกษา 4 ปี ส่วนหลักสูตรที่ 2 เป็นหลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาชีพการพยาบาล ที่รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่น ๆ มีระยะเวลาศึกษาไม่ต่ำกว่า 2 ปี 6 เดือน ซึ่งทั้ง 2 หลักสูตร เป็นการผลิตพยาบาลที่ได้มาตรฐานเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ

สำหรับหลักสูตรที่ 2 เป็นช่องทางใหม่ (New track) ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่น ๆ เข้ามาศึกษาในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต เพื่อให้เปลี่ยนสายงานอาชีพ มาเป็นวิชาชีพทางสุขภาพที่เป็นความต้องการที่มากขึ้นของสังคม สามารถตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงทางประชากร และความซับซ้อนของปัญหาด้านสุขภาพของประเทศ

ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่น ๆ อาทิเช่น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิเทศศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ สาธารณสุข ซึ่งปริญญาเหล่านี้ได้รับการกำกับให้ได้มาตรฐานโดยกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 สภาการพยาบาลได้ออก "ข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ระดับวิชาชีพ สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่น" มีการจัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จำนวนหน่วยกิตรวมของหลักสูตรไม่น้อยกว่า 120 หน่วยกิตและไม่เกิน 150 หน่วยกิต สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป หมวดวิชาเฉพาะ และหมวดวิชาเลือกเสรี ซึ่งเป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการเทียบโอนของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และระเบียบการเทียบโอนผลการเรียนของสถาบันการศึกษา ทั้งนี้ ต้องเรียนวิชาบูรณาการวิทยาศาสตร์สุขภาพเพื่อปรับฐานการเข้าสู่การเรียนกลุ่มวิชาชีพ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกณฑ์มาตรฐานของการจัดการศึกษาของหลักสูตรนี้ เป็นไปตามที่สภาการพยาบาลกำหนดไม่แตกต่างกับหลักสูตรฯ 4 ปี ซึ่งสถาบันการศึกษาต้องผ่านการตรวจประเมินรับรองมาตรฐานคุณภาพการจัดการศึกษาจากสภาการพยาบาลเช่นเดียวกันทุกประการ

นอกจากนี้ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนี้ ต้องผ่านการสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์จากสภาการพยาบาล ซึ่งเป็นข้อสอบชุดเดียวกันและสอบร่วมกับผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรฯ 4 ปี จึงจะสามารถไปปฏิบัติงานในวิชาชีพพยาบาลได้ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยการสอบความรู้เพื่อขึ้นทะบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2543 และเมื่อสำเร็จการศึกษา มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ แล้ว หน่วยงานที่รับเข้าทำงานต้องมีระบบและกลไกในการกำกับดูแล ให้ได้มาตรฐานการทำงานด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน สภาการพยาบาลได้เห็นชอบหลักสูตรนี้ ได้มีการจัดการศึกษา มีผู้สำเร็จการศึกษาและสอบความรู้ ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์แล้ว และได้เข้าทำงานในสถานพยาบาลต่าง ๆ จำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ขอให้สังคมเชื่อมั่นว่า ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ทั้งสองหลักสูตร จะเป็นพยาบาลวิชาชีพ ที่มีอุดมการณ์และยึดมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถและเป็นกำลังสำคัญในการดูแลให้คนไทยมีสุขภาพดีตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

Recent Posts